ตำบลกลางใหญ่
ข้อมูลทั่วไป
ตำบลกลางใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๑๓.๔๕ ตารางกิโลเมตร ห่างจากอำเภอบ้านผือ ๑๕ กิโลเมตรห่างจากจังหวัดอุดรธานี ๗๑ กิโลเมตร แบ่งหมู่บ้านในเขตการปกครองออกเป็น ๑๓ หมู่บ้าน มีชื่อเรียกอยู่ ๔ ชื่อ คือ
- บ้านกลางใหญ่ หมู่ที่ ๑,๕,๙,๑๐,๑๒
- บ้านโนนตาแสง หมู่ที่ ๖,๑๑
- บ้านนาสีดา หมู่ที่ ๓,๗
- บ้านผักบุ้ง หมู่ที่ ๒,๔,๘,๑๓
ประชากรทั้งหมด ๘,๘๘๐ คน เป็นชาย ๔,๔๒๘ คน หญิง ๔,๔๕๒ คน ครัวเรือน ๒,๖๖๑ ครัวเรือนเทศบาลตำบลกลางใหญ่ได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๙ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๕
ส่วนราชการในพื้นที่ ได้แก่ โรงเรียนกลางใหญ่นิโรธรังสีอุปถัมภ์ โรงเรียนบ้านผักบุ้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกลางใหญ่ สถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่
ประวัติความเป็นมาของชาวไทยพวนตำบลกลางใหญ่
ชาวตำบลกลางใหญ่ สืบเชื้อมาจากชาวพวน บ้านหนองแก้วหาดเดือย แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ถูกกองโจรจีนฮ่อบุกโจมตีจนพากันอพยพมาพักอยู่ที่เมืองกาสีทำไร่ทำนาอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ถูกรุกรานจากพวกจีนฮ่ออีกจึงได้อพยพมาพักอยู่ที่บ้านสีไค แขวงนครเวียงจันทร์ ประกอบกับช่วงนั้นเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าปกครองนครเวียงจันทร์ ได้ก่อการกบฏต่อกรุงเทพมหานครและผ่ายแพ้แก่สงคราม จึงเป็นสาเหตุของชาวลาวได้ถูกกวาดต้อนข้ามแม่น้ำโขงที่ “พานพร้าว” ปัจจุบันเป็นตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) เพื่อมาอยู่ที่ประเทศไทย จึงได้มาพักอยู่ที่บริเวณสันเขาภูพาน (ติดช่องเขาขาด) ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาส่วนมากเป็น“ชาวพวน” แต่มีอยู่สองครอบครัวพี่น้อง ชื่อจารย์อิน จารย์ลิน (คำว่า “จารย์” เป็นภาษาอีสาน ใช้เรียกนำหน้าชื่อคนที่เคยบวชเป็นพระมาก่อน) ได้รับการยอมรับเป็นหัวหน้าพวกที่อพยพมา เพราะเป็นผู้เคยบวชเรียนและมีความรู้ด้านยาสมุนไพรจึงคิดอุบายวางแผนโดยการเก็บสมุนไพรรากไม้ที่มีสารทำให้ถ่ายท้อง (ทำให้ท้องร่วง) เช่น รากแฮนเม็ด รากมะตอด(สล๊อต) หนาวเดือนห้า เก็บมาตามสายทางและที่เก็บติดมือมาแต่บ้านเก่าด้วยเมื่อได้มาแล้วก็นำมาฝนใส่หินผสมน้ำพอประมาณ(หินฝนยา)มารับประทาน เพื่อให้ถ่ายท้องและอ่อนเพลียลงไปตามๆกันสองพี่น้องจึงบอกนายกองว่าผู้คนเหล่านี้กำลังป่วยเป็นโรคห่า(อหิวาตกโรค)คงต้องเสียชีวิตแน่นอนและขอความกรุณาผ่อนปรนให้ค้างอยู่ที่พักต่อไปได้ จากนั้นจึงพากันหาทำเลที่เหมาะสมเพื่อมาตั้งหมู่บ้านมีครอบครัวทั้งหมด 11 ครัวเรือน และบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานนั้นมีหมู่บ้านต่างๆตั้งอยู่รอบบริเวณนั้นอยู่ก่อนแล้ว คือ
- บ้านเลาเก่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดป่านาสีดา) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านกลางใหญ่
- บ้านนาแค (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านกลางใหญ่
- บ้านไชย์ (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านกลางใหญ่
- บ้านเทือน (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านกลางใหญ่
จึงได้มาตั้งรกรากเป็นหลักฐานขึ้นโดยได้ตั้งชื่อบ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า “บ้านกลางใหญ่” ซึ่งอาชีพหลักของชาวไทยพวนตำบลกลางใหญ่ คือ การทำนาข้าว (พันธุ์ข้าวเหนียว) และมีสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทยพวน การผลิตข้าวเม่า คือ ข้าวอ่อน อายุประมาณ 80-85 วันเป็นข้าวอ่อนสีเขียว มีลักษณะนุ่ม หอม หวาน ซึ่งข้าวเม่าเป็นภูมิปัญญาแห่งการบริโภคที่เป็นอาหารอายุวัฒนะโดยจะนำมาทำเป็นขนมหวานไว้รับประทาน และเป็นขนมที่ทำรับประทานในงานบุญประเพณีต่างๆของชาวไทยพวนวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวไทยพวน ช่วงปลาสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการกวาดต้อนอพยพไทยพวนเชียงขวางจากลาวตอนเหนือ มาตั้งรกราก ทำมาหากิน บริเวณลุ่มน้ำพาน มีการเผยแพร่วัฒนธรรมและเจริญรุ่งเรืองตลอดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัฒนธรรมไทยพวน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งชาติพันธุ์ ที่มีการส่งต่อสืบสานกันมาแต่บรรพบุรุษ เช่น อาหาร การแต่งกาย ภาษา วิถีชีวิตเพื่อสะท้อนถึงรากเหง้า และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การท่องเชิงอนุรักษ์อย่างมีคุณค่าต่อชีวิตและคุ้มค่ากับความภาคภูมิใจในการสืบสานวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ