ตำบลบ้านผือ

ประวัติความเป็นมา

เทศบาลตำบลบ้านผือ เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาลบ้านผือ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๙๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า ๕๗ เล่ม ๗๔ ตอน ๑๐ วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๐ ได้เปลี่ยนฐานะจากสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลตำบลบ้านผือ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๙ ก ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ มีพื้นที่รับผิดชอบ ๙.๐๖๕ ตารางกิโลเมตร และวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ ได้เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า ๒๖ เล่ม ๑๒๙ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๕ มีพื้นที่เพิ่มอีก ๒๔ ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมด ๓๓.๐๖๕ ตารางกิโลเมตร มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๖ ทุกประการ นับเป็นเทศบาลตำบลแห่งแรกในอำเภอบ้านผือ

ตราสัญลักษณ์ของเทศบาลตำบลบ้านผือ

ดวงตราประจำเทศบาล มีลักษณะเป็นรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕ เซนติเมตร ภายในวงกลมขอบตอนบนมีข้อความว่า “เทศบาลตำบลบ้านผือ” ขอบตอนล่างข้อความว่า “จังหวัดอุดรธานี” ตอนกลางมีรูปมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งแสดงถึงความเป็นเมืองแห่งศาสนา ศิลปะ และประวัติศาสตร์ ดังคำขวัญอำเภอบ้านผือที่ว่า “มหาธาตุเจดีย์ ประเพณีงานกฐิน ล้วนถิ่นพระเถระ ไหว้พระหลวงพ่อนาค หลากหลายสวนหิน ถิ่นอารยธรรมไทยพวน”

ลักษณะที่ตั้ง

สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านผือ ตั้งอยู่ถนนศูนย์ราชการ บ้านศรีสำราญ หมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี หรืออยู่ทางทิศตะวันออกของที่ว่าการอำเภอบ้านผือ ห่างจากจังหวัดอุดรธานี ประมาณ ๕๔ กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ ๖๑๐ กิโลเมตร

แผนที่เทศบาล

เทศบาลตำบลบ้านผือ เดิมมีพื้นที่รับผิดชอบ ๙.๐๖๕ ตารางกิโลเมตร วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ ได้เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า ๒๖ เล่ม ๑๒๙ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๕ มีพื้นที่เพิ่มชึ้นอีก ๒๔ ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมด ๓๓.๐๖๕ ตารางกิโลเมตร (๒๐,๖๖๕.๖๒๕ ไร่)

มีแนวเขตติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ดังนี้
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลหายโศก (บ้านหนองนกเขียน)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผือ (บ้านแวง)
ทิศเหนือ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านค้อ (บ้านค้อ)
ทิศใต้ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทอง (บ้านคู)

คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาล ประกอบด้วย

๑. นายอำนวย อุดมเจริญไมตรี นายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ
๒. นายสุทัศน์ พัฒนขจร รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ
๓. นางสาวฐิตาภรณ์ เทพบุผา รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ
๔. นายวสันต์ อิงค์ประเสริฐ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ
๕. นายนิยม เทพบุผา ที่ปรึกษาพิเศษนายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ
๖. นายธนวัฒน์ ไทรคำ เลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ

ประชาชนในเขตตำบลบ้านผือส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัด จำนวน ๘ แห่ง

  • วัดศรีสะอาด บ้านศรีสะอาด
  • วัดป่าช้าบ้านถ่อนใหม่ บ้านถ่อนใหม่
  • วัดลุมพลีวัน บ้านถ่อน
  • วัดศรีโสภณ บ้านผือนอก
  • วัดจันทราราม บ้านผือใน
  • วัดบ้านพลับ บ้านพลับ
  • วัดอรัญญิกาวาส บ้านศรีสำราญ
  • วัดป่าสันติธรรมวัน บ้านหัวคู

ประเพณีและงานประจำปี

๑. ประเพณีทำบุญปีใหม่ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี จะทำบุญตักบาตร เพื่อเป็น สิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว
๒. การทำบุญมหาชาติ (บุญพระเวส หรือพระเวสสันดรชาดก) เป็นการทำบุญเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา จะมีการเทศมหาชาติตลอดทั้งวันเพื่อเทศนาสั่งสอนประชาชน จัดในเดือน ๔ ตามปฏิทินจันทรคติ
๓. ประเพณีสงกรานต์ หรือบุญเดือน ๕ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓–๑๕ เมษายน ของทุกปี หรือเรียกอีกอย่างว่า ปีใหม่ไทย จะมีการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้สูงอายุ การจัดประกวดขบวนรถ ขบวนแห่
๔. ประเพณีบุญบั้งไฟ จะจัดขึ้นที่บ้านผือนอก หมู่ ๓ เพื่อทำพิธีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล จะจัดขึ้นระหว่างเดือน ๖ – ๗ เท่านั้น ก่อนฤดูฝน
๕. ประเพณีเข้าพรรษา จะทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษา แก่พระภิกษุและสามเณรที่จำพรรษาอยู่ในวัด จัดงานในเดือน ๘
๖. ประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน ตรงกับเดือน ๙ ของทุกปี โดยจะเตรียมอาหารไปถวายพระเพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว และผีไม่มีญาติ เปรต
๗. ประเพณีทำบุญสารทไทย (บุญข้าวสาก) จัดทำบุญในเดือน ๑๐ ของทุกปี โดยนำอาหารและข้าวกระยาสารท ไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
๘. ประเพณีการทอดเทียน จะจัดขึ้นในระหว่างการเข้าพรรษา โดยการนำต้นเทียนและจตุปัจจัยไปถวายพระและมีการสวดมนต์ ท่องกลอนเป็นทำนองสรภัญญะ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
๙. ประเพณีออกพรรษา ตรงกับเดือน ๑๑ ของทุกปี มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยโคมไฟ จุดตะไล ดอกไม้ไฟ ประทัด
๑๐. ประเพณีทำบุญทอดกฐิน จัดขึ้นภายใน ๑ เดือนหลังจากออกพรรษา ระหว่าง แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ถือว่าเป็นประเพณีที่ทำบุญได้อานิสงค์มาก
๑๑. ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ เพื่อเป็นการขอขมาและบวงสรวงเจ้าแม่คงคา และเป็นการปล่อยความทุกข์ไปตามลำน้ำ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น

พื้นเพเดิมของชาวอำเภอบ้านผือ จากการบอกเล่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า อาจจะอพยพมาจาก ฝั่งลาว เข้ามาทางอำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ย้ายถิ่นฐานมาเรื่อย ๆ จนมาปักหลักอยู่ที่บ้านผือ และมีการกระจายไปทำมาหากินอยู่ตาม สวน ไร่นา ก็กลายเป็นหมู่บ้าน ชุมชนอีกมากมาย ภาษาที่ใช้ส่วนมากเป็นภาษาลาวพวน (ไทพวน)  พวนบ้านหมี่  พวนเวียง  ภาษาลาวอิสาน  และภาษาไทยเลยบางส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวอำเภอบ้านผือ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้

๑. ชาวไทพวน  สันนิษฐานว่าอพยพมาจากประเทศลาว ตั้งแต่ราวปี พ.ศ.๒๓๒๒ สมัยที่มีการต่อสู้กับ อาณาจักรล้านช้าง  เวียงจันทร์  ทั้งที่อพยพและถูกเกณฑ์มา บางส่วนตั้งถิ่นฐานอยู่เขตอำเภอ บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
๒. ชาวไทเลย อพยพมาจากจังหวัดเลย เพื่อทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบ้านผือ
๓. ชาวไทลาว อพยพมาจากประเทศลาวและทางตอนใต้ของจีน  เป็นคนพื้นเพที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอบ้านผือเดิม

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก

  • ผ้าทอมือ กลุ่มสืบสานต่อผ้าทอมือบ้านผือ ชุมชนจันทราราม หมู่ ๑๔
  • ผ้าทอมือ ชมรมไทยพวนบ้านผือ
ตำบลบ้านผือ