วัดโพธิ์ชัยศรี

วัดโพธิ์ชัยศรี หรือวัดหลวงพ่อนาค ตั้งอยู่ที่บ้านแวง หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี  ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานี ประมาณ ๕๕ กิโลเมตร เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อนาค เดิมมีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่เศษ ต่อมามีชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้บริจาคที่ดินให้ และบริจาคทุนทรัพย์ซื้อเพิ่มเติม จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ ๗๑ ไร่ ๑๔ ตารางวา มีท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิมล(พระมหาอัมพร อโสโก) เป็นเจ้าอาวาส และดำรงตำแหน่งตำเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ (มหานิกาย) วิทยฐานะ นักธรรมเอก เปรียญธรรม ๖ ประโยคและอภิธรรมบัณฑิต เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒๓ ภายในบริเวณวัดมีพระพุทธรูปปางนาคปรก มีนาค ๗ หัว ชูเหนือเศียรองค์พระ ซึ่งเป็นพระที่เก่าแก่

เรือนแก้วพระอุปคุต

เรือนแก้วพระอุปคุต พระอุปคุตเถระเป็นพระสาวกที่มีลักษณะเด่นทางฤทธานุภาพทำหน้าที่ฝ่ายกำราบอธรรม ท่านมีชีวิตช่วงเวลาเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช บทบาทเด่นของท่านก็คือเป็นผู้รักษาพระบรมสารีกธาตุในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เรือนแก้วพระอุปคุตมีลักษณะทรง ๑๒ เหลี่ยม ซึ่งหมายถึงหลักธรรมคำสอนว่าด้วยกฏธรรมชาติแห่งชีวิต ๑๒ ประการ ขนาดความกว้างและความยาวเท่ากันคือ ๒๘ เมตร หมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์สูง ๓๗ เมตร หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการที่ให้ถึงตรัสรู้ ภาย ในบรรจุพระบรมสารีกธาตุซึ่งได้รับมาจากที่ต่าง ๆ เช่น ได้รับจากสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร , วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร , วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , วัดกลาง จ.สุพรรณบุรี และได้รับจากประเทศศรีลังกา เป็นต้น ภายในยังมีภาพวาดฝาผนังบรรยายประวัติพระอุปคุตเถระ

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดบริการเวลา 08.00-16.30 น. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนใน วัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของ มนุษย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ ป่าสงวนจำนวน 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา

พระมหาธาตุเจดีย์

พระมหาธาตุเจดีย์ วัดป่าบ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี วัดป่าบ้านค้อ ได้ก่อตั้งขึ้นโดยการนำของหลวงพ่อทูล ขิปฺปปณฺโญ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๘ จากเดิมเป็นป่าช้าเก่าและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ได้มีการพัฒนาเรื่อยมา ปัจจุบันวัดป่าบ้านค้อมีเนื้อที่รวม ๔๑๐ ไร่ มีเสนาสนะและการสาธารณูปโภคที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยปฏิบัติธรรมสำหรับพระและฆราวาส มีเสนาสนะป่าเหมาะแก่การปลีกวิเวก ในส่วนของการเผยแผ่ มหาเถรสมาคมประกาศให้วัดป่าบ้านค้อเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุดรธานี (ธ) แห่งที่ ๒ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้

กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ

ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมขาติ บ้านนางาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยนางอุไร สัจจะไพบูลย์ ประกอบด้วยสมาชิกในกลุ่ม 60 คน โดยมีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการและได้จดทะเบียนเข้าเป็นวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบัน ทางกลุ่มได้ผลิตผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือยอมสีธรรมชาติ โดยอาศัยวัสดุธรรมชาติต่างๆ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ และพืชต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นวัสดุย้อมสีธรรมชาติจนกลายเป็น ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือที่สวยงามและได้รับความนิยมอย่างสูง ผ้าไหมและผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มมีคุณลักษณะพิเศษที่สามารถระบายความร้อนได้ดี และไม่เกิดสารพิษต่อร่างกายเมื่อถูกแสงแดดเนื้อผ้ามีความเบา นุ่มนวล มีน้ำหนักทิ้งตัวเมื่อใช้เป็นอาภรณ์ชุดแต่งกาย ความสวยงามประณีตของผ้าทอมือยังสอดแทรกด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษโดยมีการมัดหมี่แล้วนำไปย้อมให้เกิดลวดลาย โดยผสมผสานด้วยเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน เช่น ลายขิด ลายง้างฉลุ ลายกล่อมหางกระรอก ลาดขัดพื้นฐานและความชำนาญการย้อมสีธรรมชาติ จึงกลายเป็นผ้าทอมือที่มีความงดงาม มีสีสันลวดลายที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว